วงเสนานาตีแสกหน้าตร. อ้างไม่รู้มีผับเม้าท์เท่นบี ชงผู้ว่าปิดยาว 5ปี แนะผู้เสียหายฟ้องกราวรูดตั้งแต่ ผวจ.ลงมา ฐานละเลยทำเกิดโศกนาฏกรรม15ศพ ดันรื้อโครงสร้างการบริหารงานจังหวัด ตำรวจขึ้นตรงผู้ว่าฯ “มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” ลั่นต้องเยียวยาเป็นธรรม อิงความสูญทางเศรษฐกิจ จัดโซนนิ่งผับบาร์ นอกเขตชุมชน ออกกม.ตั้งกองทุนเยียวยา ด้านมพบ.เร่งประสานเครือข่ายลงพื้นที่เก็บข้อมูลช่วยเหยื่อ
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กทม. เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากสุรา เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันจัดเสวนา หัวข้อ “จากซานติก้าผับถึงเม้าท์เท่นบี...แก้อย่างไรให้ตรงจุด”หลังเกิดเหตุไฟไหม้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 ราย จากโศกนาฎกรรมเพลิงไหม้ผับเม้าท์เท่นบี ชลบุรี
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า เชื่อว่าหากตำรวจไม่รู้คงไม่มีใครกล้าเปิด ไม่ใช่ว่าเป็นการล้อมผ้าเปิดแล้วเดินทางไปที่อื่นต่อ เรื่องนี้ชาวบ้านรู้กันทั้งบ้านทั้งเมือง ถ้าไม่รู้ก็ถือว่าโง่ หรือไม่มีสมรรถภาพ ทั้งนี้คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการรับเงิน และที่เม้าท์เท่นบีไม่ใช่ที่สุดท้าย แต่มีสถานบันเทิงแบบนี้อยู่ทั่วประเทศ หากไฟไม่ไหม้ก็คงไม่มีใครรู้ ดังนั้นการแก้ไขเฉพาะหน้าคือการเอาผิดผู้การตำรวจที่หูหนวกตาบอด ส่วนระยะยาวต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานราชการภูมิภาค ตำรวจต้องขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ ผู้ว่าต้องควบคุม สั่งงานได้ ลงโทษได้ เพราะที่ผ่านมาผู้ว่าฯ นายอำเภอ อนุญาตให้เปิดร้านต่าง ๆ แต่การตรวจสอบว่ามีการดัดแปลง หรือทำผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นหน้าที่ตำรวจ ซึ่งแน่นอนว่าเม้าท์เท่นบีเป็นสถานบันเทิงเถื่อน ตำรวจกลับบอกว่าไม่รู้
ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ในจังหวัดชลบุรีอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงลักษณะนี้เพียง 2 อำเภอ คือพัทยา และบางละมุงเท่านั้น ดังนั้น เม้าท์เท่นบี ที่อำเภอสัตหีบจึงเป็นพื้นที่ห้ามเปิด และมีการดัดแปลงการประกอบกิจการ ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะในพื้นที่มีหลายหน่วยงานที่ดูแล แต่ขาดการบูรณาการ บังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยานก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำซาก ซึ่งเม้าท์เท่นบีเปิดมา 2 เดือน คนทั้งจังหวัดรู้ แต่ตำรวจกลับไม่รู้ พอเกิดปัญหา ก็แก้ปัญหาง่ายๆ คือดำเนินคดีกับเจ้าของ สั่งย้ายนายอำเภอ ตำรวจในพื้นที่ไปแขวนไว้ที่อื่น ตั้งกรรมการสอบ ซึ่งทำแบบนี้ทุกครั้ง ตนจึงอยากให้กรณีนี้เป็นคดีตัวอย่างโดย 1.ผู้เสียหายรวมตัวกันฟ้องร้องผู้ประกอบการที่ประมาท 2.ยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนละเลยแค่ไหน 3.ฟ้องศาลปกครอง ฟ้องหน่วยงานรัฐตั้งแต่ผู้ว่าฯ ลงมา เพื่อให้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีปล่อยปละละเลย เช่นเดียวกับพื้นที่อื่น หากพบสถานบันเทิงเสี่ยง เคยถูกร้องเรียนแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจสอบ แต่ไม่มีการแก้ไขอะไร ก็สามารถยื่นเรื่องป.ป.ช.ได้ โดยไม่ต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรม และ4. ที่แห่งนี้ผู้ว่าควรมีคำสั่งห้ามเปิดกิจการแบบสถานบริการอีก5 ปี ซึ่งจุดนี้อาศัยอำนาจตามคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 22/2558 ,46/2559 ดำเนินการได้เลยเพราะหนึ่งในฐานความผิดที่ชัดเจนคือให้เด็กอายุต่ำกว่า20ปี เข้าใช้บริการ รวมถึงขอเรียกร้องให้กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรมในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการฯตามคำสั่งนี้ เร่งออกกำกับติดตามตรวจจับกุมร้านเหล้าผับบาร์ต่างๆ ที่ฝ่าฝืนกฎหมายนี้ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย อย่าปล่อยให้ร้านเหล้าผับบาร์นอกรีตสร้างความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินประชาชน
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าวว่า ขณะนี้ทราบเบื้องต้นว่า เจ้าของผับมีการจ่ายชดเชยผู้ตายรายละ 5 หมื่นบาท ถือว่าไม่เพียงพอ ทั้งที่จริง ๆ ควรจ่ายชดเชยโดยคำนวนความสูญเสียทางเศรษฐกิจตามประมาณการณ์อายุของผู้เสียชีวิต โดยรัฐต้องเป็นแกนกลางจัดสร้างพื้นที่ต่อรองระหว่างผู้ประกอบการกับครอบครัวผู้เสียหายให้ได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรมที่สุด ทั้งนี้ตนเห็นว่าการแก้ปัญหาต้องปฏิรูปหรือออกกฎหมายให้นายทุน เจ้าของกิจการ ต้องรับผิดชอบค่าชดเชยกรณีเกิดอุบัติภัยต่างๆ หรือให้มีการตั้งกองทุนชดเชยขึ้นมา โดยให้นายทุนส่งเงินเข้ากองทุน แทนที่จะให้เป็นการต่อรองเป็นรายกรณี และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตเปิดสถานประกอบการที่ต้องขึ้นกับหลายหน่วยงานทั้งท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน ตรวจสอบต่อเนื่อง และเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อให้สถานประกอบการอยู่ในร่องในรอย
“เหตุการณ์ ตั้งแต่โรงงานเคเดอร์ ปี 2536 ตาย188 คน โรงแรมโรเยลพล่าซ่าถล่ม ตาย137คน ปี2536 โรงงานลำใยอบแห้งระเบิด ปี2542 ตาย 36 คน ซานติก้าผับ ตาย 67 คน ถึงเมาท์เทนบีล่าสุด ซึ่งกรณีโรงงานลำใยระเบิดนั้น ได้นำมาตรฐานข้อเรียกร้องที่นายจ้างโรงงานเคเดอร์ จ่ายมาเป็นต้นแบบเรียกร้องกับนายจ้างโรงงายลำใยอบแห้ง คือให้จ่ายค่าชดเชยผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ รายละ2แสนบาท และจ่ายค่าการศึกษาบุตรผู้เสียชีวิต แต่นายจ้างหนีออกนอกประเทศ จึงต้องเรียกร้องต่อรัฐบาล ใช้เวลาต่อสู้นาน6เดือน รัฐบาลมีมติจ่ายเป็นกรณีพิเศษให้เท่ากับกรณีคนงานเคเดอร์ คือรายละ 2 แสน และให้ค่าการศึกษาบุตร แต่เมื่อเทียบกับเหตุการณ์เม้าท์เท่นบีได้แค่50,000ถือว่าน้อยมาก ควรต้องได้เกือบล้านด้วยซ้ำหากเทียบเคียงกับกรณีเคเดอร์ เพราะต้องคิดตามอัตราเงินเฟ้อ 4-5% ด้วย ข้อสำคัญผับบาร์จะเป็นสถานที่ของอภิสิทธิชนมิได้ กฎหมายต้องเท่าเทียม” นายจะเด็จ กล่าว
ขณะที่ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผอ.ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่พบว่ามีใครออกมาเยียวยาต่อผู้เสียหายอย่างจริงจัง ตามที่มีการอ้างว่าทนายความนำเงินประกันไปเยียวยาผู้เสียหายแล้ว ทั้งๆ ที่ ผู้เสียหายต้องได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม โดยการเยียวยาเฉพาะหน้า ต่อผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นค่าปลงศพ ค่ารักษาพยาบาล และกรณีเป็นหัวหน้าครอบครัว ก็จะทำให้มีคนอีกมากที่ขาดคนอุปการะก็ต้องได้รับการเยียวยาด้วย ดังนั้น ขณะนี้ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานงานไปยังเครือข่ายภาคตะวันออกลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล ประสานความช่วยเหลือผู้เสียหายแล้ว หรืออีกช่องทางหนึ่งผู้เสียหายสามารถติดต่อมาทางมูลนิธิฯ ได้ทางโทรศัพท์ 02-248-3734-7 Inbox เข้าไปที่เฟสบุ๊ค “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” และไลน์ consumerthai โดยในการช่วยเหลือ อาทิ เปิดพื้นที่ให้มีการไกล่เกลี่ย เยียวยา หากไม่มีความเป็นธรรมก็จะช่วยเรื่องการฟ้องร้องคดีต่อไป
Comments