กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานมอบรางวัลเหมืองแร่สีเขียว ประจำปี 2566 (Green Mining Award 2023) เชิดชูสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การประเมินตามมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว ภายใต้แนวคิด “เหมืองแร่เพื่อชุมชน”
นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลเหมืองแร่สีเขียว ประจำปี 2566 (Green Mining Award 2023) ว่า กพร. มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบแร่และสามารถตอบสนองความต้องการวัตถุดิบของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ โดยมีการกำกับดูแลควบคู่ไปกับการสนับสนุน ส่งเสริมและยกระดับให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานเข้าสู่มาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว เพื่อให้มีมาตรฐานการประกอบการที่ดีระดับสากล มีการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการดูแลชุมชนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตามแนวคิด “เหมืองแร่เพื่อชุมชน”
สำหรับพิธีมอบรางวัลเหมืองแร่สีเขียวในครั้งนี้ จัดขึ้น ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว ประจำปี 2566 (Green Mining Award 2023) โดยเป็นสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การประเมินตามมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว ทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นที่ตั้ง การลด ป้องกัน และแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การดูแลความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของคนงานและชุมชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง การมีพื้นที่สีเขียวและทัศนียภาพเรียบร้อยสะอาดตา การมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า
ซึ่งในปี 2566 มีสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว รวมทั้งสิ้น 215 ราย ประกอบด้วย รางวัลเหมืองแร่สีเขียว (รายใหม่) จำนวน 31 ราย รางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวต่อเนื่องดีเด่น ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่มีการรักษามาตรฐานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี และมีคะแนนเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 3 ราย และรางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว จำนวน 181 ราย
“กพร. ชัดเจนในการบริหารจัดการให้ภาคอุตสาหกรรมมีความสามารถในการแข่งขันและเติบโต
อย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำเหมืองแร่และประกอบอุตสาหกรรมพื้นฐานอย่างถูกต้อง
ตามกฎหมาย มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ดี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเรามุ่งมั่นให้ประชาชนในทุกพื้นที่ที่มีเหมืองแร่ได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อให้เหมืองแร่สามารถพัฒนา เติบโต และอยู่คู่ชุมชน ได้อย่างแท้จริง” อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าว
Comentários