เครือข่ายด้านเด็กเยาวชนจี้ “บิ๊กตู่-นักการเมือง” แสดงจุดยืนหยุดเพิ่มปัจจัยเสี่ยงฉุดเยาวชนลงหลุมอบายมุข เหล้า การพนัน สารเสพติด กัญชา พร้อมแสดงละครล้อเลียนรัฐบาลที่เดินหน้าทำเรื่องอบายมุข มอมเมาเด็ก เยาวชน ประชาชน
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กว่า 30 คน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกร้องต่อรัฐบาล พรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงาที่เกี่ยวข้อง ให้แสดงจุดยืนปกป้องเด็กเยาวชน จากปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่ การพนัน ยาเสพติด กัญชา ทั้งนี้เครือข่ายได้แสดงละครสั้น จำลองสถานการณ์รัฐบาลที่มุ่งหน้าทำเรื่องอบายมุข ถาโถม มอมเมาใส่เด็กเยาวชนและประชาชน โดย นายอิทธิพล ช่างกลึงดี ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนมารับหนังสือ
นางสาววศิณี สนแสบ ผู้ประสานงานเครือข่ายจิตอาสาพัฒนาสังคม ม.รามคำแหง กล่าวว่า ข้อมูลศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ปี2560 พบว่าประเทศไทยมีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 28.40% กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือเด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มากถึง 2.2 ล้านคน คิดเป็น 23.91% หรือประมาณ 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมด และไม่มีแนวโน้มลดลง โดยมีพฤติกรรมการดื่มแบบหัวราน้ำ ส่งผลกระทบทางสังคม บาดเจ็บ เสียชีวิต ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง ทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุทางถนน และยังพบด้วยว่าเยาวชนอายุ15-19 ปี มีการสูบบุหรี่ถึง 4 แสนคน ซึ่งจากสถิติเด็กไทย10คนที่ติดบุหรี่7คน จะเลิกไม่ได้ไปตลอดชีวิต ส่วน 3 คนที่เลิกได้ต้องใช้เวลา 20 ปี กว่าถึงจะเลิกได้ ขณะเดียวกันก็พบว่าคนไทย3แสนคนติดยาเสพติด ในจำนวนนี้ 40%เป็นเด็กและเยาวชน
ขณะที่ปัญหาการพนัน สำรวจโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เล่นการพนันกว่า32ล้านคน เป็นนักพนันหน้าใหม่ 7.9แสนคน เป็นเด็กและเยาวชนอายุ15-25ปี กว่า4.3ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี62ถึง5.4แสนคน และยังพบว่าคนไทยกว่า1.9 ล้านคน เล่นพนันในบ่อนออนไลน์ เพิ่มขึ้นจากปี 62 กว่า 135% หรือประมาณ1.12ล้านคน สร้างผลกระทบต่อตัวผู้เล่น ครอบครัว คนรอบข้าง และบุคคลทั่วไปในสังคม ทั้งปัญหาหนี้สิน ความเครียด คดีความ อาชญากรรม และความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
“แต่จากการติดตามไม่พบว่ารัฐบาลมีนโยบายที่มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาปัจจัยเสี่ยงในสังคมเลย แทบไม่เห็นการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ตรงกันข้ามกลับถูกกีดกัน มีแต่นโยบายที่หวังผลทางการเมือง บางนโยบายเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม เกิดพื้นที่เสี่ยง พื้นที่อบายมุข เช่น แก้กฎหมายขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ต้องห้าม ขายได้ 24 ชั่วโมงปลดล็อคพืชกระท่อม กัญชา เตรียมผลักดันกฎหมายให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า การผลักดันบ่อนคาสิโนถูกกฎหมาย ล่าสุดเสนอจัดโซนนิ่งขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาของรัฐบาลชุดนี้” นางสาววศิณี กล่าว
ด้านนายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่าจากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว เครือข่ายฯ ขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อนายกฯ ดังนี้
คัดค้านการเพิ่มพื้นที่การพนัน ยาเสพติด และการเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประกอบกิจการได้อย่างอิสระ เสรี การผลักดันบ่อนคาสิโนถูกกฎหมาย รวมถึงการจัดโซนนิ่งขยายเวลาปิดผับบาร์ถึงตีสี่
ขอเรียกร้องให้รัฐบาล พรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้องเด็ก เยาวชน และประชาชนจากปัจจัยเสี่ยง โดย แก้ไข พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478,พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ยึดหลักการปกป้อง คุ้มครองสุขภาพ สวัสดิภาพประชาชน และลดผลกระทบทางสังคม ,ตั้งคณะกรรมการ หรือองค์กรอิสระ ปราศจากอิทธิพลกลุ่มการเมืองเพื่อควบคุม กำกับดูแล และลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด การพนัน และปฏิรูปหน่วยงานปราบปรามให้เข้มแข็ง เกิดกลไกการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ
ขอให้รัฐบาล เร่งส่งเสริม สนับสนุนงบประมาณพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาพื้นที่เรียนรู้ เพื่อเด็กและเยาวชนจะได้พัฒนาตนเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดีปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง 4. ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงดีอีเอส กำชับเจ้าหน้าที่ทุกจังหวัดให้ตรวจสอบ ดูแล กวดขัน สถานบริการหรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ บ่อนการพนันผิดกฎหมายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สอดส่องดูแลการมั่วสุมและลักลอบจำหน่ายยาเสพติด สนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ และ 5. ระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนาน ขอให้กระทรวงสาธารณะสุข เร่งออกข้อบังคับ หรือระเบียบ จัดการกับปัญหาและผลกระทบจากกัญชา เช่น เมากัญชาแล้วขับรถ การเสพหรือบริโภคกัญชาเกินขนาด การคิดค้นสูตรผสมอันตราย การเสพในพื้นที่สาธารณะ การนำกัญชามาเป็นส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่ม เป็นการด่วน.
Comments