เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านยาเสพติด และภาคประชาสังคมชวนมาถก ทวน ถาม และแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยหลังประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยร่างกฎหมายยาเสพติดภาคประชาชน
ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี
วันนี้ (24 สิงหาคม) เวลา 09.30 น. เครือข่ายองค์กรที่ทำงานกับผู้ใช้ยาเสพติด จัดเวทีสาธารณะ ถก ทวน ถาม : อำนาจการริเริ่มกฎหมายอยู่ในมือประชาชนจริงหรือไม่ ? หลังจากที่เครือข่ายคนทำงานด้านยาเสพติด ได้ยื่นริเริมร่างพระราชบัญญัติบำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติดฯ (ภาคประชาชน) ต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565
และเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ได้มีการแจ้งผลการวินิจฉัยว่า ร่างดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงมิอาจริเริ่มเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ โดยจารุณี ศิริพันธุ์ อนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ หนึ่งในผู้สนับสนุนกฎหมายนี้กล่าวบนเวทีว่า “ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้หรือผู้พึ่งพิงยาเสพติด มักถูกตีความเป็นอาชญากร ต้องกำจัดให้สิ้นซาก ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายและกำหนดโทษแบบอาญา แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็พบว่า การแก้ปัญหาลักษณะนี้ไม่ประสบความสำเร็จ การที่ประชาชนพยายามเสนอพระราชบัญญัติบำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติดฯ นั้น เป็นหนึ่งในเครื่องมือการทำความเข้าใจกับสังคมและทุกฝ่าย ทั้งรัฐ ชุมชน ครอบครัว สังคม เพราะร่างกฎหมายนี้มีหลักการเพื่อช่วยเหลือ ปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยจะทำให้ผู้ใช้ยาเสพติดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น การใช้วิธีการดูแล ฟื้นฟูแบบนี้พูดถึงเพียงผู้ใช้หรือผู้เสพ โดยไม่ได้บอกว่าจะทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมาย รวมทั้งในส่วนของผู้ผลิต ผู้ค้ารายใหญ่ ยังคงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายในการปราบปรามอย่างเข้มข้น”
ขณะที่สมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “หลักการระดับนานาชาติมีการสรุปชัดเจนเรื่อง หลักการผู้ใช้หรือพึ่งพิงยาเสพติดเป็นผู้ป่วย ซึ่งต้องใช้มาตรการสาธารณสุขในการดูแล เครือข่ายภาคประชาชนจึงพยายามเข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย เพื่อให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่คำวินิจฉัยของประธานรัฐสภาที่ว่าเรื่องนี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 25 เป็นคำกล่าวอ้างที่กว้าง ไม่มีขอบเขตชัดเจน เพราะเป็นการตีความกฎหมายไปในทางจำกัดสิทธิมากกว่าคุ้มครองสิทธิ และกำหนดขอบเขตอยู่ที่รัฐเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเท่ากับปิดประตูการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญมากกว่าและต้องไม่ลืมคือ สิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ผลของการคำวินิจฉัยครั้งนี้ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการยื่นริเริ่มกฎหมายยาเสพติดภาคประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายเรื่องอื่นด้วย เพราะหากรัฐคิดว่ามีความหมิ่นเหม่ที่จะขัดต่อต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ก็จะมีการอ้างเหตุดังกล่าว มาจำกัดสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนอีก ทั้งที่ตามกระบวนการที่ถูกต้อง ควรเป็นเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาและถกเถียงกันอย่างเปิดเผยตามขั้นตอน ไม่ว่าจะรับรองให้เป็นกฎหมายหรือไม่ก็ตาม”
จากนั้น ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “กรณีนี้น่าสนใจมาก เพราะประธานรัฐสภาปฏิเสธกระบวนการเข้าชื่อของผู้ริเริ่มกลับมาอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2 สัปดาห์ ทั้งที่ด้วยอำนาจประธานสภาจะใช้เวลาหารือ หรือคิด หรือเปิดพื้นที่ให้ผู้ริเริ่มได้มีโอกาสเข้าไปชี้แจงเจตนารมณ์ของการเสนอกฎหมายนี้บ้างก็ยังดี ซึ่งการที่ประธานสภามาตีความว่าขัดต่อความมั่นคงของรัฐไม่ใช่หน้าที่ เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งคนเหล่านี้กำลังก้าวก่ายนิติบัญญัติ คือตีความเอาเองไปแล้วว่ามันไม่ดี เลยปัดตกด้วยมือตัวเอง
แม้ปัจจุบัน โชคเข้าข้างประชาชนอยู่บ้างเพราะเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนนั้นทำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งสามารถเข้าชื่อให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายสามารถดำเนินการออนไลน์ได้ จนกว่ากฎหมายเข้าชื่อฉบับใหม่จะแล้วเสร็จ แต่มีข้อสังเกตว่าที่ผ่านมา 5 ปี มีประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายกันจบครบตามเกณฑ์มากกว่า 50 ฉบับ แต่ที่ทำได้ดีที่สุดคือการเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้วสภาลงมติไม่รับหลักการคือโหวตไม่ผ่าน แต่ที่แย่ที่สุดแล้วมีอยู่เป็นจำนวนมากคือ การที่ประชาชนเสนอกฎหมายเข้าไปแล้ว ถูกนิ่งเฉยไม่ใยดี ไม่ทำอะไรหรือใช้คำว่า ปล่อยให้เน่าตาย ถ้าขยายให้เห็นภาพ 5 ปีที่ผ่านมา กฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อกันแล้วเสนอสภาได้มี 26 ฉบับ มีการโหวตไม่เห็นชอบด้วย 3 ฉบับ ประธานสภาเห็นว่าเป็นหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีก 2 ฉบับ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน 18 ฉบับ ไม่รับรอง 9 ฉบับ รอเน่าตายอีก 9 ฉบับ”
ทั้งนี้ ในตอนท้ายของกิจกรรมได้มีการร่วมอ่านแถลงการโดย นายศักดา เผือกชาย ประธานเครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า “เราในฐานะภาคประชาชนไม่ยอมรับ และไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภา ซึ่งการเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้ยาเสพติดตามหลักการของสหประชาชาติ ที่ให้ประเทศต่าง ๆใช้มาตการเพื่อลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) อย่างเป็นรูปธรรม โดยยกเลิกการกำหนดให้ผู้ใช้ยาเสพติดเป็นผู้กระทำความผิด ผู้ที่อาจตกเป็นผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ยกเลิกการบังคับตรวจปัสสาวะโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือ ปปส.แต่ให้เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตรวจเพื่อรักษา ไม่ใช่ตรวจแบบตั้งเป้าจับกุม เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ ผู้ใช้ยาเสพติดไม่ใช่อาชญากร...ผู้ติดยาเสพติดคือผู้ป่วย ที่สำคัญร่างกฎหมายนี้ จะส่งเสริมให้ชุมชน องค์กรภาคประชาสังคมและ ภาคเอกชนช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด และเข้ามามีส่วนร่วมด้านการลดอันตรายจากยาเสพติด เพื่อให้ผู้ใช้ยาเสพติดเข้าถึงบริการ ด้านสุขภาพและบริการทางสังคมโดยไม่ถูกตีตรา ไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกบังคับให้บำบัดรักษา เพื่อให้ผู้ใช้ยาเสพติดมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับผู้อื่น ซึ่งเจตนารมณ์สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 28 และหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และเป็นการส่งเสริม คุ้มครอง ปกป้อง เยียวยาสังคม ซึ่งประโยชน์มิได้ยังแต่เฉพาะในผู้ใช้ยาเสพติด แต่ยังรวมไปถึงครอบครัว ชุมชน และสังคม ทั้งยังสอดคล้องกับทิศทางการแก้ปัญหายาเสพติดในระดับสากลด้วย”
โดยในช่วงที่แถลงการณ์ เครือข่ายคนทำงานยาเสพติด และภาคประชาสังคมอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย(TDN) มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์(FAR) มูลนิธิรักษ์ไทย เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพภาคกลาง กลุ่มมอบความหวัง กลุ่มTogether มูลนิธิแอ็พคอม มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ(SWING) กลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม(APASS) และสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (RSAT) ได้ร่วมประกาศข้อเรียกร้องไปถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีรายละเอียดดังนี้
ให้ทบทวนการวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติบำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติด พ.ศ. ...ตามหนังสือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ สผ 0014/7846 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 เสียใหม่
จัดให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติด พ.ศ. ... เป็นหน้าที่ของรัฐสภาแล้วเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามวาระ
จัดให้มีแนวนโยบายและวิธีปฎิบัติ ที่ให้การวินิจฉัย การริเริ่มเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายของประชาชน ตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมระหว่างอำนาจของรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ไม่ใช่ด้วยการยกเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่กว้าง ไม่มีขอบเขต และแบบแผนชัดเจน และอำนาจในการตีความและกำหนดขอบเขตไม่ควรอยู่ที่รัฐเพียงฝ่ายเดียว
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่ shorturl.at/agILQ และร่วมสำรวจรายละเอียดเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติบำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติดฯ(ภาคประชาชน) ได้ที่ shorturl.at/eJLZ9
Comments