top of page
Writer's picturePR NEWS FOCUS

โครงการเสวนา “สร้างเสริมกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรต่อทุกเพศสภาพ”



วงเสวนา หนุนสร้างกระบวนการยุติธรรมเป็นมิตรต่อทุกเพศสภาพ “นพ.วิบูลย์” ชี้กระบวนการส่งต่อผู้เสียหายตามระบบ OSCC เร่งให้ความรู้บุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลส่งต่อไปถึงชุมชน เพื่อเก็บหลักฐานให้ได้เร็วที่สุด ด้านอัยการชี้ควรให้เข้าไปมีบทบาทตั้งแต่เริ่มต้นสอบปากคำเพื่อลดความบอบช้ำจากการให้ข้อมูลซ้ำ ๆ


เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565 ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย (FES) มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการเสวนา “สร้างเสริมกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรต่อทุกเพศสภาพ”


นพ.วิบูลย์ ทองด้วง รองประธานศูนย์ OSCC โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กล่าวว่า ในคดีทางเพศนิติแพทย์มีหลักการตรวจสอบ โดยเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกายทุกส่วน รวมถึงอวัยวะเพศและรูทวาร เพื่อเก็บสารคัดหลั่ง ไว้เป็นหลักฐานทางคดี ซึ่งหากเป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่จะมีเวลา 1-2 วันในการเก็บ เพราะหลังจากนั้นสารคัดหลั่งจะหายไป ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุแล้วโดยหลักการผู้เสียหายควรรีบมาตรวจ


นพ.วิบูลย์ กล่าวว่า กระบวนการส่งต่อผู้เสียหายเข้าสู่ระบบ OSCC สิ่งสำคัญคือ บุคลากรในสถานพยาบาลต้องรับทราบว่าได้ทำการสัมผัสรักษาผู้เสียหายอยู่ จึงได้เริ่มอบรมผู้เกี่ยวข้องในโรงพยาบาลเริ่มตั้งแต่พยาบาล ทีมงานด่านหน้า ห้องตรวจโรคทั่วไปให้เข้าใจถึงผู้เสียหาย เพราะบางครั้งก่อนที่จะมาถึงเรื่องการเก็บหลักฐาน ผู้เสียหายอาจบาดเจ็บรุนแรงมาก่อนได้ ดังนั้นจึงมีเรื่องสำคัญที่ต้องรักษาชีวิตไว้ก่อน จากนั้นโรงพยาบาลจะกระจายความรู้นี้ลงไปสู่โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ลงไปถึงอาสาสมัคร (อสม.) ถือเป็นการให้ความรู้กันเป็นทอดๆ อบรมจนเจ้าหน้าที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ


“โรงพยาบาลให้ความสำคัญกับระบบ OSCC เมื่อผู้เสียหายมาถึงโรงพยาบาล ต้องปิดบังชื่อ เวชระเบียนป้องกันการรับรู้ตัวตนจากภายนอก เป็นเรื่องความลับ แต่อย่าทำให้แตกต่างจนผู้ป่วยคนอื่นรู้สึก อย่างไรก็ตามแพทย์ทุกคนสามารถเก็บหลักฐานผู้เสียหายได้ ซึ่งบางเวลาแพทย์นิติเวช ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งแต่ละแผนกประสานร่วมมือกัน” นพ.วิบูลย์ กล่าว



ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายข่มขืนที่มีการแก้ไขตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. 2562 ยังมีหลายภาคส่วนติดกับกฎหมายเดิม ซึ่งเรื่องนี้ต้องกระจายการให้ความรู้ผ่านทางสื่อต่าง ๆ ให้กับประชาชน พร้อมกับอธิบายกระบวนการว่าอะไรคือสิ่งที่ทำได้หรือทำไม่ได้


ดร.น้ำแท้ กล่าวว่า บทบาทของอัยการในการดำเนินคดีทางเพศ เราไม่ต้องการให้ผู้เสียหายเจ็บช้ำจากการดำเนินคดีที่ล่าช้า เนื่องจากการสอบสวนซ้ำซาก ดังนั้นหากอัยการอยู่ร่วมสอบปากคำได้ตั้งแต่ครั้งแรก นำข้อเท็จจริงมาต่อสู้คดีจนจบกระบวนการ จะช่วยลดการตอกย้ำรอยแผลของผู้เสียหาย เพราะต้องยอมรับว่าบางคดีกว่าจะจับผู้ต้องหาได้อาจใช้เวลาหลายปี การมาให้ปากคำใหม่จะย้ำบาดแผล เพราะผู้เสียหายบางคนอาจก้าวไปต่อแล้ว หรือ มีครอบครัวใหม่แล้ว หากให้กลับมาเล่าถึงเหตุการณ์อีกอาจเกิดความไม่สบายใจเพราะไม่อยากให้คนในครอบครัวรู้ อย่างไรก็ตามการลงนามใน MOU ระหว่างอัยการสูงสุดกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชนเพื่อแก้ปัญหาและอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาจึงมีความสำคัญ ที่จะทำให้อัยการได้ข้อมูลข้อเท็จจริงโดยตรง


เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้น หากติดตามอย่างตรงไปตรงมาหรือเห็นจากการนำเสนอข่าวจากทางสื่อจะพบว่ามีแจ้งความจำนวนมาก และน้อยรายที่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาอาจจะเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไม่เป็นมิตรกับผู้เสียหาย เพราะอาจจะไม่เข้าใจว่าเรื่องการถูกละเมิดทางเพศเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน บางครั้งในกระบวนการสืบสวนสอบสวนมีการถามหลายๆ ครั้ง หรือ ไม่มีฉากกั้น ต้องเผชิญหน้ากับคู่กรณี หรืออาจถูกข่มขู่


เรืองรวี กล่าวด้วยว่า ต้องออกแบบกระบวนการยุติธรรมอย่างไร ที่จะคุ้มครองให้ผู้เสียหายปลอดภัยและกล้าพูดข้อเท็จจริง โดยที่ไม่ทำให้เกิดความบอบช้ำซ้ำไปซ้ำมา รวมถึงการจัดเก็บหลักฐานที่ควรมีในโรงพยาบาลทุกแห่ง ไม่ต้องวิ่งไปเฉพาะที่ที่มีแพทย์ OSCC ถึงเวลาหรือไม่ต้องมีแพทย์นิติเวช ประจำ 24 ชั่วโมง หรือ มีบ้านพักฉุกเฉิน มีนักสังคมสงเคราะห์คอยดูแลผู้เสียหายและให้คำแนะนำทันที่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น



ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมที่มีความอ่อนไหวต่อความแตกต่างทางเพศสภาพ (Gender-friendly justice) หมายถึง การประกันว่ากฎหมาย สถาบันความยุติธรรม กระบวนการยุติธรรม และผลลัพธ์ของความยุติธรรมจะไม่เลือกปฏิบัติกับใครก็ตามบนพื้นฐานของเพศและเพศสภาพ (Gender identities) จำเป็นต้องมีมุมมองในเรื่องของสิทธิมนุษยชน การกำหนดเจตจำนงของตนเอง (Self-determination) ความเสมอภาคทางเพศ (Gender equality) ความอ่อนไหวทางเพศ (Gender sensitive) และสิทธิตามกฎหมายที่เท่าเทียมกันของผู้หญิง ผู้ชายและทุกเพศสภาพ ตลอดจนการเข้าถึงและการขจัดอุปสรรคต่อการได้รับสิทธิเหล่านี้ ความอ่อนไหวทางเพศหมายถึงการทำความเข้าใจและคำนึงถึงปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายของแต่ละปัจเจกบุคคลเกี่ยวกับชีวิตสาธารณะและชีวิตส่วนตัว บทบาทและความคาดหวังของสังคม การตีตราหรือด้อยค่าพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การสูญเสียพรหมจรรย์ของหญิงสาวเป็นเรื่องน่าอาย เมื่อถูกข่มขืนหรืออนาจาร เป็นต้น ซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานมาจากอคติที่เกี่ยวข้องกับการกีดกันและการเลือกปฏิบัติทางเพศ


ความรุนแรงทางเพศหมายถึง (ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ) หมายถึง การกระทำใดๆ ของความรุนแรงที่ส่งผลหรือมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ทางเพศ หรือจิตใจ หรือความทุกข์ทรมานต่อสตรีและทุกเพศสภาพ รวมถึงการข่มขู่ต่อการกระทำดังกล่าว การบีบบังคับ หรือการกีดกันตามอำเภอใจของ เสรีภาพไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่สาธารณะหรือในชีวิตส่วนตัว และกฎหมายไทยกำหนดไว้ใน พรบ.ศาลเยาวชนและครอบรัว และ พรบ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

Comentários


bottom of page