top of page
Writer's picturePR NEWS FOCUS

เวทีประกวดนโยบายและพัฒนานวัตกรรมดิจิตอล 2022 ชูไอเดียคนรุ่นใหม่สร้างนวัตกรรมรองรับสังคมผู้สูงอายุ


เวทีประกวดนโยบายและพัฒนานวัตกรรมดิจิตอล 2022 ชูไอเดียคนรุ่นใหม่สร้างนวัตกรรมรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทย


TYPI จับมือ 8 หน่วยงาน จัดงานเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ OLDIE BUT HEALTHY เพื่อต่อยอดในงานประกวดนโยบายและพัฒนานวัตกรรมดิจิตอล 2022 พัฒนาระบบรองรับสังคมผู้สูงวัยประเทศไทยในอนาคตผ่านมุมมอง 4 มิติ สุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

Thailand Youth Policy Initiative (TYPI) ร่วมกับ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ธนาคารกรุงไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานประสานการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว) และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดงานเสวนา เวทีงานประกวดนโยบายและพัฒนานวัตกรรมดิจิตอล 2022 ภายใต้หัวข้อ OLDIE BUT HEALTHY เมื่อวันที่17กันยายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อนำไปสู่การต่อยอดพัฒนาระบบรองรับสังคมผู้สูงวัยประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดีและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ผ่าน 4 มิติ สุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อมละเศรษฐกิจ


ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มุ่งหวังว่าอยากให้เทคโนโลยีสามารถเข้าถึงสังคมผู้สูงอายุได้ 100% แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถมองภาพไปถึงจุดนั้นได้ยกตัวอย่างการทำงานขณะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าการจัดเก็บข้อมูลด้านภูมิสังคมในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยพิบัติของผู้สูงอายุน้อยมาก ทำให้การจัดการระบบดูแลเข้าถึงผู้สูงอายุและผู้ป่วยทุกประเภทเข้าถึงยาก ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยิ่งเห็นภาพชัดว่า ยังขาดการทำให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมที่ทำให้เขามีความสุข


“เราจะพบว่าระบบข้อมูลด้านภูมิสังคมในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้อยมาก แทบจะไม่ทราบว่ามีผู้สูงอายุที่มีลำบากอยู่ตรงไหนบ้าง เงื่อนไขการป่วยก็ไม่มี ความช่วยเหลือที่ส่งไปจึงไม่ตรงเป้าประสงค์ มุ่งหวังให้เทคโนโลยีเข้าถึงผู้สูงอายุ 100%” ดร.ทวิดา กล่าว



คุณรุ่งรุจี ปาลอนันต์กุล Krungthai Digital Health Platform กล่าวว่า การเกิดขึ้นของแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ทำให้คนพ้นพบว่าผู้สูงอายุเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากพอสมควรและเกิดกระบวนการเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์ม กระเป๋าสุขภาพ เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้เรื่องสุขภาพเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นอีกโดยเฉพาะสิทธิการใช้บริการระบบสาธารสุขเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีขึ้น

“หลังจากกรุงไทย ได้ทำแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ได้ค้นพบว่าจริงๆ แล้วผู้สูงอายุเขาก็เล่นสมาร์ทโฟนได้และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้พอสมควรและเกิดการเรียนรู้ เริ่มทำธุรกรรมนได้ จึงเกิดกระเป๋าสุขภาพ ที่เป็นฟังก์ชันเพิ่มขึ้นมา เป็นเรื่องสุขภาพล้วนๆ ซึ่งเราพยายามให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิสุขภาพมากขึ้น อย่างการฉีดวัคซีนก็ได้รับการตอบรับมากขึ้น หลังโครงการกระเป๋าสุขภาพเกิดขึ้นก็มองว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งก็เป็นส่วนช่วยในการดึงผู้สูงวัยเข้าถึงเรื่องสุขภาพได้” คุณรุ่งรุจี กล่าว


นายธวัฒชัย ปาละคะมาน ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ TYPI 2021 กล่าวว่า ภาคเยาวชนค่อนข้างมีส่วนร่วมในการสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัยให้ดีขึ้นได้ หากมองย้อนกลับมาที่กลุ่มเยาวชนขณะนี้ ซึ่งในอนาคตก็จะเป็นสังคมผู้สูงวัยมากขึ้น เราจึงต้องช่วยกันคิดค้นนวัตกรรมที่จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัวทั้งโรคระบาดและปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมมองจากสิ่งเล็กๆ ในสังคมจนสามารถแก้ปัญหาในวงกว้างของสังคมได้ และทำให้ผู้สูงวัยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงเทคโนโลยีได้


“เวลาคิดนวัตกรรม อย่าไปเชื่อว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ล้ำๆ จะช่วยรองรับระบบสังคมผู้สูงอายุได้ไม่เสมอไป นวัตกรรมอาจมีการเชื่อมโยงกันระหว่างสิ่งเล็กๆ ในสังคมทำให้แก้ปัญหาภาพใหญ่ได้ นวัตกรรมที่ดีต้องเป็นไปได้และหยิบจับไปใช้ต่อได้ อย่างแพลตฟอร์มดิจิทัลสาธารณะเพื่อการจัดการมาตรการ PM2.5 แบบชี้เป้าของปีที่แล้ว ก็สามารถเป็นแพลตฟอร์มสะท้อนเสียงประชาชนให้มีส่วนร่วมตรวจสอบและติดตามการจัดการของภาครัฐได้” นายธวัฒชัย กล่าว



ขอเชิญติดตามงานวัน Main Conference การประกาศผลงานจากผู้เข้าร่วมแข่งขัน 15 ทีมสุดท้าย จากโครงการ Thailand Youth Policy Initiative ในวันที่ 1 ต.ค. 2565 สามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Thailand Youth Policy Initiative - TYPI by IFMSA – Thailand

14 views0 comments

Opmerkingen


bottom of page